กลุ่มอาการพังพืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ เป็นกลุ่มอาการที่มักพบได้บ่อยในวัยทำงาน ที่ต้องใช้มือและข้อมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงมือมาก งานที่มีแรงสั่น สะเทือนมาที่มือมาก เช่นงานที่ต้องใช้เครื่องจักร เครื่องเจาะ งานที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่าง เช่น ไขควง สว่าน หรือแม้กระทั้งบางครั้ง การทำงานบ้านเองก็มีโอกาสเกิดอาการพังพืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้
ลักษณะอาการเด่น ๆ ที่ทำให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ คือ
- อาการปวดข้อมือ ส่วนมากมักมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานมือมาก ๆ มีการทำงานที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้นลงบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เช่น การบิดไขควง การบิดผ้า
- บางครั้งอาการปวดอาจมีมากขึ้นเวลานอนหลับ ทำให้บางคนต้องตื่นมาสะบัดมือกลางดึกเพื่อให้อาการปวด อาการชาลดน้อยลง
- อาการชาบริเวณนิ้วมือ ซึ่งปกติจะรู้สึกชาที่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถแยกได้ รู้สึกชาปลายนิ้วทุกนิ้วได้
กรณีที่มีอาการดังกล่าว สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ดังนี้ คือ
- งดการทำงานที่ต้องใช้มือมาก ๆ ใช้แรงมือบีบแน่น ๆ กระดกข้อมือบ่อย ๆ
- แช่มือในน้ำอุ่นให้ลึกถึงข้อมือ ประมาณ 10-20 นาที วันละประมาณ 1-2 ครั้ง เช้า เย็น
- บริหารมือ


การบริหารแบบที่1


การบริหารแบบที่2
หากทดลองปฏิบัติแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ พบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวด อาการชาที่รุนแรง รบกวนการทำงาน และการดำรงชีวิต แนะนำให้มาพบแพทย์เนื่องจากอาการปวดและชามือนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสม ต่อไป
ในกรณีที่ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (repetitive peripheral magnetic stimulation/rPMS) การใช้อัลตราซาวน์ การบริหารมือที่เหมาะสม การใช้อุปกรณ์ประคองข้อมือ (wrist support) เป็นอีกการรักษาหนึ่งที่สามารถลดอาการปวด ลดการอักเสบของเส้นประสาท ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ลดโอกาสในการรักษาด้วยการผ่าตัดได้
นพ.เฉลิมพล ชีวีวัฒน์
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู