ใบหน้าอ่อนแรง หรือ Bell’s Palsy

อาการอ่อนแรงของใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้าเบี้ยวนั้น สาเหตุที่พบบ่อยมักเป็นจากการบาดเจ็บ หรือการอักเสบของเส้นประสาทสมองที่7 อาการส่วนใหญ่จะมีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งแบบเฉียบพลัน

หากพบว่ามีอาการทั้งใบหน้าซีกซ้ายและขวานั้นพบได้น้อยและให้นึกถึงโรคอื่น ๆ ทางระบบประสาทไว้ก่อน เช่นกลุ่มอาการอักเสบระบบประสาทส่วนปลายกิลแลง-บาร์เร(Guillan Barre Syndrome)

เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เป็นเส้นประสาทชนิดผสมที่ทำหน้าที่นำกระแสประสาทระบบสั่งการ ระบบรับความรู้สึก และระบบอัตโนมัติ ภาวะปกติจึงทำหน้าที่ในการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า ช่วยในการแสดงออกทางสีหน้า ทำหน้าที่ในการรับรสบริเวณ 2/3 ของลิ้นส่วนหน้า และเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำตา และน้ำลาย

การอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เชื่อว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสHerpez simplex ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 60% อาจรู้สึกว่ามีอาการไข้ ปวดหน้าหู จากการติดเชื้อไวรัสมาก่อนได้ มีอาการใบหน้าเบี้ยว แสบตาจากหลับตาไม่สนิท ควบคุมริมฝีปากไม่ได้ทำให้ทานน้ำแล้วไหลออกทางปาก อาจพบว่ามีการรับรสที่ผิดปกติไป น้ำตาแห้ง หรือน้ำตาไหลมากเกินไปโดยไม่มีอาการอ่อนแรงของแขนขา 

โรคนี้พบได้ทุกช่วงวัย เพศหญิงและชายพบได้พอ ๆ กัน โดยส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วไม่ค่อยมีอาการซ้ำ มีประมาณ 2-9% ที่เมื่อหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้

การที่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงใบหน้าทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวว่าจะเป็นอาการอ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมอง การพบอาการใบหน้าอ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว จากการอักเสบเฉพาะเส้นประสาทสมองที่ 7 นั้นจะไม่พบอาการอ่อนแรงของแขนขาร่วมด้วย ใบหน้าด้านที่อ่อนแรงจะได้รับผลกระทบทั้งใบหน้าตั้งแต่การย่นหน้าผาก ยักคิ้ว หลับตา ย่นจมูก ยิ้ม ยิงฟัน

ส่วนอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อใบหน้าของโรคหลอดเลือดสมองมักพบอาการอ่อนแรงของแขนขาร่วมด้วย และมีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งล่างเป็นหลัก โดยที่ การขยับของหน้าผาก คิ้ว การหลับตา กระพริบตายังทำงานได้ปกติ

แต่เนื่องจากบางครั้งการแยกภาวะดังกล่าวทำได้ยาก และโรคหลอดเลือดสมองถือเป็นโรคเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาให้ทันท่วงที เมื่อพบว่ามีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย และรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ในกรณีที่ได้รับการตรวจ วินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นอาการใบหน้าอ่อนแรงจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองที่ 7 การได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอะไซโคเวีย (เนื่องจากการอักเสบมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเริม) และยาลดการอักเสบในช่วงแรกจึงมีความสำคัญ

นอกจากนี้ การฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้า ฝึกนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้ายังช่วยในกระบวนการฟื้นฟูซ่อมแซมเส้นประสาทด้วย

ปัจจุบันการใช้การบำบัดรักษาด้วยการกระตุ้นคลื่นแม่เหล็ก(rPMS) เป็นอีกการรักษาหนึ่งที่ช่วยในการฟื้นฟู ซ่อมแซม เส้นประสาท โดยมีข้อดีของการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กคือ ตัวคลื่นจะไปเหนี่ยวนำเส้นประสาทให้มีการทำงานและส่งกระแสประสาทด้วยตัวมันเอง ไม่ได้ผ่านการกระตุ้นไฟที่กล้ามเนื้อโดยตรง ทำให้เส้นประสาทมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตเป็นปกติได้เร็วขึ้น 

การนวดกระตุ้นใบหน้าเป็นการช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นความรู้สึกเกี่ยวกับการรับรู้ตำแหน่งกล้ามเนื้อใบหน้า ก่อนนวดใช้โลชั่นทาหน้าเพื่อเพิ่มความลื่น สามารถทำการนวดกระตุ้นได้ดังนี้

การฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้มีการสั่งการทำงานของเส้นประสาทสมองที่7 ช่วยในการฟื้นฟู โดยสามารถฝึกที่หน้ากระจกร่วมด้วย ดังนี้

นพ.เฉลิมพล ชีวีวัฒน์

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

สบายดีคลินิกเวชกรรม

หากต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการใบหน้าเบี้ยว ปรึกษาการรักษาด้วยการกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ดี

Call: 094-885-3339

ประกาศความเป็นส่วนตัว เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้และมีการบันทึกข้อมูลของคุณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ โปรดคลิก “ACCEPT” เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ โดย สบายดีคลินิกเวชกรรม กรุงเทพฯ